นางธัญธิตา บุญญมณีกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จ.ราชบุรี เปิดเผยว่า จากกรณีที่เริ่มมีผู้สนใจหันมาเพาะเลี้ยงด้วงสาคู หรือที่กลุ่มเกษตรกรภาคกลาง รู้จักกันในชื่อด้วงงวงมะพร้าว หรือด้วงไฟ ในจังหวัดราชบุรีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว ต่างวิตกกังวลถึงมาตรฐานการเพาะเลี้ยง ที่หากตัวด้วงหลุดรอดออกไปสู่ธรรมชาติ จะเข้าทำลายต้นมะพร้าวจนเสียหาย ยืนต้นตาย ส่งผลกระทบต่อวงจรธุรกิจมะพร้าวทั้งระบบ
ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวแก่และมะพร้าวน้ำหอม รวมกันประมาณ 1 ล้านไร่ สำหรับพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 มีทั้งหมด 8 จังหวัด ได้แก่ จ.กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวรวมกว่า 500,000 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 58 ของทั้งประเทศ มูลค่าการส่งออกรวมกว่า 15,000 ล้านบาท และในส่วนของ จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกมะพร้าวแหล่งใหญ่ที่สุด มีประมาณ 83,000 ไร่ มีมูลค่ารวมกว่า 4,000 ล้านบาท
สำหรับอาชีพการเพาะเลี้ยงด้วง ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบ พบว่ามีการเลี้ยงอยู่ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะใน จ.ราชบุรี ที่มีผู้สนใจหันมาเพาะเลี้ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งอยู่ใกล้กับตลาดรับซื้ออย่าง กทม. ซึ่งมีความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้หลายฝ่ายกังวล และเกรงว่าหากด้วงในฟาร์มเพาะเลี้ยงมีการหลุดรอดออกมา แล้วแพร่ระบาดทำลายมะพร้าวจนไม่สามารถควบคุมได้ และอาจจะกระทบถึงพืชเศรษฐกิจอย่าง ปาล์มน้ำมัน หมาก และอินทผาลัม ซึ่งเป็นพืชอาหารของด้วง และมีการปลูกกันอยู่อย่างแพร่หลายในพื้นที่ขณะนี้
นางธัญธิตา กล่าวต่อไปว่า ส่วนแนวทางแก้ปัญหาในเบื้องต้น หากมีการส่งเสริมให้ด้วงเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ควรกำหนดและจัดทำมาตรฐานฟาร์มกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงด้วง เริ่มตั้งแต่ขึ้นทะเบียนฟาร์ม ทำประวัติการเพาะเลี้ยง จำนวนพ่อแม่พันธุ์และอัตราการผลิต ตลอดจนการกำจัดของเสียจากการผลิต เช่น นำเศษอาหารเก่ามาผ่านกระบวนการกำจัดไข่และหนอนตัวอ่อน ก่อนทำเป็นปุ๋ยอัดเม็ด ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าได้อีกทางหนึ่ง ในส่วนของเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว ควรหมั่นสังเกตต้นมะพร้าวในแปลง หากพบการทำลายหรือแพร่ระบาดของด้วง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่เกษตรโดยเร็ว
ชาวสวนมะพร้าว กลัวผลกระทบ หากด้วงสาคูระบาดหนัก จนควบคุมไม่อยู่
Reviewed by ข่าวลุงเขี้ยว
on
มิถุนายน 19, 2564
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: