เมื่อวันที่ 5 ส.ค.64 สมาชิกกลุ่มชมรมจีนแคะห้วยกระบอก ต.กรับใหญ่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี กำลังช่วยกันตัดใบต้นโกฐจุฬาลัมพา หรือที่ชาวจีนแคะเรียกว่า “ต้นพู่เกี๊ยง” หรือ “ต้นเง่” ก่อนนำไปปักชำ เพื่อแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในชุมชน และผู้ที่ต้องการนำไปปลูกเพื่อบริโภค หลังมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) เปิดเผยผลงานของคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) และมหาวิยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) พบว่า “โกฐจุฬาลัมพา” สมุนไพรที่หมอพื้นบ้านไทย และเอเชียตะวันออกฉียงใต้รู้จักดี สามารถต้านเชื้อโควิดได้ในห้องปฏิบัติการ
นายวีรยุทธ ศิริทองเกษตร ประธานชมรมจีนแคะห้วยกระบอก เปิดเผยว่า ในอดีตต้นโกฐจุฬาลัมพา หรือต้นเง่ นับเป็นสมุนไพรที่ชุมชนชาวจีนแคะตลาดห้วยกระบอก จะนิยมปลูกไว้ตามบ้านเรือน ด้วยเชื่อว่าเป็นสมุนไพร ที่มีประโยชน์มาก เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 45 - 120 เซนติเมตร หรืออาจสูงได้ถึง 2 เมตร โคนต้นเป็นเหง้าติดพื้นดินหรืออยู่ใต้ดิน มีสรรพคุณในการห้ามเลือด รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ลดอาการอักเสบ ในแพทย์แผนจีน จะใช้รักษาอาการไข้อันเนื่องจากวัณโรค อาการไข้จับสั่น และแก้ริดสีดวงทวาร อีกทั้งยังช่วยบำรุงร่างกาย ให้กับผู้ที่ต้องการมีบุตร และผู้หญิงอยู่ไฟหลังคลอด ช่วยให้เลือดลมเดินดี มดลูกเข้าอู่ได้เร็ว นอกจากนี้ต้นเง่ ยังเป็นหนึ่งในส่วนประกอบของตำหรับยาแผนไทย อาทิ “ยาหอมนวโกฐ” แก้อาการลมวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง “ยาจันทน์ลีลา” ใช้บรรเทาอาการไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู และ "ยาเลือดงาม" ช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ชาวจีนแคะจะนิยมนำต้นเง่มาปรุงเป็นอาหาร ทั้งคาวและหวาน โดยใช้ส่วนยอด นำมาทำเป็นอาหารคาวอย่างแกงจืด หรือใส่ลงไปในไข่เจียว และขนมหวานอย่างขนมเง่ปั้น ในส่วนของรากจะใช้ทำไก่ตุ๋น นอกจากนี้ยังนิยมนำส่วนของใบไปตากแห้ง สำหรับใช้ชงดื่มเป็นชา แต่ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางด้านสาธารณสุข ทำให้ปัจจุบันต้นเง่ กลายเป็นเพียงวัชพืชของคนหนุ่มสาว ซึ่งน่าเสียดายอย่างมาก
นายวีรยุทธ กล่าวต่อไปว่า แต่หลังจากที่มีข่าวว่า ทีมวิจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกาค้นพบว่าต้นโกฐจุฬาลัมพา สามารถต้านเชื้อโควิดได้ในระดับห้องปฏิบัติการได้ ทำให้หลายคนหันมาให้ความสำคัญกับสมุนไพรชนิดนี้กันมากขึ้น มีชาวไทยเชื้อสายจีนแคะและประชาชนทั่วประเทศ ที่ทราบว่าชมรมจีนแคะห้วยกระบอก ยังคงมีการสืบทอดวัฒนธรรมด้านอาหารจากต้นเง่ ได้ติดต่อสอบถามและต้องการต้นพันธุ์กันเป็นจำนวนมาก ทางชมรมจึงเล็งเห็นประโยชน์ว่า นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์พืชสมุนไพร และภูมิปัญญาพื้นถิ่นแล้ว การเพาะชำต้นเง่ เพื่อแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน จะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่าย ในการใช้ป้องกันโควิด-19 อีกทางหนึ่งด้วย
เร่งเพาะต้นโกฐจุฬาลัมพา แจกชุมชน หลังทราบ สหรัฐอเมริกา วิจัยต้านโควิดได้
Reviewed by ข่าวลุงเขี้ยว
on
สิงหาคม 04, 2564
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: