เมื่อวันที่ 26 เม.ย.65 พ.อ.วีรพจน์ สุภธีระ หัวหน้าจิตอาสา กองพลพัฒนาที่ 1 พร้อม จิตอาสาพระราชทาน หน่วยงานภาครัฐ ชาวบ้านในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวจิตอาสาจากต่างประเทศ ได้พร้อมใจกันพัฒนาแหล่งน้ำและขุดลอกคลอง ที่บริเวณคลองง่องแง่ง หมู่ 11 บ้านห้วยยางเหนือ ต.เขาขลุง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องจักรกลจาก กองพลพัฒนาที่ 1 ค่ายศรีสุริยวงศ์ และ อบจ.ราชบุรี รวมถึงปรับปรุงภูมิทัศน์ตลอดลำคลอง ด้วยการปลูกไม้ยืนต้น และหญ้าแฝกป้องกันตลิ่งพังเสียหาย การทำแซนด์วิชปลา สร้างแหล่งอาหารปลาจากธรรมชาติ ตามโครงการจิตอาสาต้านภัยแล้ง ประจำปี 2565
พ.อ.วีรพจน์ สุภธีระ หัวหน้าจิตอาสา กองพลพัฒนาที่ 1 กล่าวว่า จากแนวความคิดที่ต้องการพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำในพื้นที่แล้ง หรือท่วมซ้ำซาก โดยไม่ต้องรอการประกาศพื้นที่ประสบภัย ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน จ.ราชบุรี จึงได้เลือกคลองง่องแง่ง บ้านห้วยยางเหนือ ต.เขาขลุง อ.บ้านโป่ง เป็นพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการ ในลักษณะบูรณาการแต่ละหน่วยงานในพื้นที่สนับสนุน ทั้งคน เครื่องจักร งบประมาณ และร่วมกันทำตามศักยภาพ
สำหรับการดำเนินงาน เริ่มจากนำรถแบคโฮ มาขุดลอกคลองเชื่อมจากแหล่งน้ำภายนอกเข้าสู่ระบบจัดการน้ำ ปรับปรุงภูมิทัศน์ กำจัดวัชพืช ขุดตะกอนเลน ทำตะพัก เพิ่มขนาดคลองตลอดลำคลอง ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร ขุดลอกบ่อน้ำสาธารณะให้เป็นแก้มลิงขนาด 10,000 ลูกบาศก์เมตร ขุดหลุมขนมครกขนาดเล็กสำหรับเพิ่มปริมาตรกักเก็บน้ำ กระจายความชุ่มชื้น สร้างระบบนิเวศ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ จากนั้นระดมกำลังจิตอาสาและชาวบ้านช่วยกับทำกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้วยการ ปลูกหญ้าแฝก ปลูกไม้ยืนต้น และการทำแซนด์วิชปลา สร้างแหล่งอาหารปลาจากธรรมชาติ ช่วยเพิ่มแหล่งโปรตินให้กับชาวบ้าน ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามหลักการทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะมีชาวบ้านได้รับประโยชน์จากโครการประมาณ 240 ครัวเรือน และพื้นที่ทางการเกษตรอีกกว่า 1,500 ไร่ ที่จะสามารถทำการปลูกพืชหมุนเวียนได้ทั้งปี
นายเฉลา กันนะ ชาวบ้านห้วยยาง ต.เขาขลุง ได้กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยจะปลูกพืชไร่เป็นหลักทั้งอ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ข้าวหอมมะลิ และพืชล้มลุก แต่ด้วยสภาพพื้นที่ที่แห้งแล้ง ต้องรอน้ำจากฝนเท่านั้น รวมไปถึงคูคลองและบ่อกักเก็บน้ำเริ่มตื้นเขิน มีวัชพืชปกคลุม ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้พื้นที่ทำการเกษตรสร้างรายได้ได้อย่างเต็มที่ ต่อมาเมื่อชาวบ้านทราบว่า มีโครงการดังกล่าวเข้ามา ทุกคนต่างดีใจมากและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 10 นอกจากนั้นยังพร้อมที่จะลงแรงช่วยกับปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ เพื่อจะได้มีน้ำใช้สำหรับทำการเกษตร เพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนในอนาคตต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น: