เจ้ามารวย หมูป่าเพศผู้ วัย 9 ปี หวิดถูกเข้าโรงเชือด ปัจจุบันกลายเป็นขวัญใจ การกำจัดขยะสดในชุมชน

เมื่อวันที่ 28 ก.ย.63 ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังชุมชนหน้าวัดดอนตูม ถนนบ้านดอนตูม เขตเทศบาลเมืองบ้านโป่ง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เพื่อพบ นางพัชรา วีระกีรติ อายุ 62 ปี และ นายนพดล วรสุทธิพิศาล อายุ 52 ปี ซึ่งทั้ง 2 เป็นพี่น้องกัน และยังเป็นเจ้าของ “เจ้ามารวย” หมูป่าเพศผู้ อายุ 9 ปี  จากที่เคยถูกร้องเรียนเรื่องปัญหาส่งกลิ่นเหม็น จนถูกกดดันให้ส่งโรงฆ่าสัตว์ แต่ปัจจุบันกลับกลายมาเป็นตัวกำจัดขยะสด และเป็นเซเลปชื่อดังของชุมชน


นางพัชรา วีระกีรติ เปิดเผยว่า เมื่อประมาณ 9 ปีก่อน น้องชายของตนได้หอบหิ้วลูกหมูป่า วัย 2 เดือน มาจากแคมป์งานก่อสร้างที่ จ.เพชรบุรี ด้วยความสงสารหลังเห็นกลุ่มลูกน้องเตรียมนำไปทำเป็นอาหาร จึงได้ขอซื้อต่อมาในราคา 500 บาท โดยในวันนั้น ตนได้พูดติดตลกว่า หากมาให้โชคก็จะช่วยเลี้ยง ปรากฏว่าตนมีโชคจากการเสี่ยงดวง เป็นเงิน 8 หมื่นบาท จึงได้ตั้งชื่อลูกหมูป่าว่า “เจ้ามารวย” นับแต่นั้นเป็นต้นมา เจ้มารวย ก็เสมือนเป็นคนในครอบครัว ทุกคนในบ้านต่างก็ช่วยกันดูแล ทั้งการอาบน้ำ ป้อนอาหาร เก็บทำความสะอาดมูลอุจาระและปัสสาวะ เจ้ามารวยเป็นหมูป่าที่ฉลาด ไม่ก้าวร้าวดุร้าย และรักสงบ กระทั่งเริ่มมีขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้น ประกอบกับน้องชายของตนป่วยด้วยโรคมะเร็ง จึงจำเป็นต้องนำมาเลี้ยงยังพื้นที่ด้านนอกของตัวบ้าน ซึ่งเป็นเพิงสังกะสีใจกลางชุมชน ปัญหาจึงก่อตัวขึ้น เนื่องจากอาหารที่มีชาวบ้านนำมาให้เจ้ามารวยบูดเน่า และน้ำเสียจากการชะล้างสิ่งสกปรกส่งกลิ่นเหม็นรบกวน ทำให้มีปัญหากับชาวบ้านบางคน ที่ได้ไปร้องเรียนตามหน่วยงาน เพื่อให้นำเจ้ามารวยออกไปจากชุมชน ถึงขั้นให้ขายนำไปเข้าโรงฆ่าสัตว์ หรือแม้แต่นำไปปล่อย แต่ด้วยความรักและผูกพันที่มีต่อกันมานาน จึงทำให้ตนตัดใจทำตามที่มีชาวบ้านแนะนำไม่ได้ ในช่วงนั้นเองกองสาธารณสุขเทศบาลเมืองบ้านโป่ง ได้ประสานขอความรู้และคำแนะนำจากคณะทำงานโครงการชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ อ.บ้านโป่ง มาช่วยแก้ปัญหาทางกลิ่น และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในชุมชน ส่งผลทำให้ปัจจุบัน เจ้ามารวยกลายมาเป็นขวัญใจของชุมชน และเป็นผู้ช่วยสำคัญในการกำจัดขยะสด ประเภทผักและผลไม้ ที่เหลือในครัวเรือน นอกจากนั้น ยังช่วยทำให้เกิดความรัก ความสามัคคีในชุมชน ต่อยอดเข้าร่วมโครงการชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ อ.บ้านโป่ง อีกด้วย

นางพัชรา กล่าวต่อไปว่า สำหรับวิธีการดูแล ในทุกเช้าของแต่ละวัน ตนจะให้อาหาร จากนั้นก็นำน้ำซาวข้าว ที่เหลือใช้ภายในครัวเรือนของแต่ละบ้านโดยรอบที่นำมาเทไว้ให้ หรือน้ำหมักจุลินทรีย์ มาราดล้างทำความสะอาดพื้นคอก แล้วกวาดให้น้ำลงไปใน“บ่อพักรักษ์น้ำ” ที่ขุดเตรียมไว้ ซึ่งสามารถช่วยลดกลิ่นเหม็นได้เป็นอย่างดี สำหรับมูลของเจ้ามารวย ก็จะเก็บใส่ถุง เพื่อนำไปทำปุ๋ยคอกบำรุงต้นไม้ในสวนต่อไป

 ด้าน นายสุทน แสนตันเจริญ เจ้าหน้าที่ชุมชนสัมพันธ์ของ บริษัท สยามคราฟท์ อุตสาหกรรม จำกัด  SCG โรงงานบ้านโป่ง ซึ่งเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรม“บ่อพักรักษ์น้ำ” เปิดเผยว่า ปัจจุบันตนเป็นหนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ หรือบ้านโป่งโมเดล ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน   หลังจากทราบเรื่องของเจ้ามารวย  ตนจึงได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจปัญหา จากนั้นจึงได้นำนวัตกรรมในเรื่องของบ่อพักรักษ์น้ำ มาปรับใช้ ด้วยวิธีการขุดบ่อขนาดกว้างประมาณ 1 เมตร และลึกประมาณ 2 เมตร โดยการคำนวณจากปริมาณน้ำเสียของแต่ละวัน รวมไปถึงลักษณะของชั้นดิน จากนั้นใส่ท่อซีเมนต์ลงไป ตรงกลางบ่อให้นำท่อพีวีซีเจาะรู ใส่ลงไปให้มีความสูงพ้นปากบ่อประมาณ 1 เมตร เพื่อระบายอากาศ แล้วจึงนำก้อนอิฐ ก้อนหิน ก้อนกรวด และทรายลงไป ปิดด้วยผ้าตาข่ายมุ้ง ก่อนนำก้อนกรวดและถ่านปิดทับด้านบน เมื่อน้ำเสียไหลลงมาในบ่อพักนี้ ชั้นหินต่างๆจากทำหน้าที่กรองของเสีย ในส่วนของน้ำซาวข้าวและน้ำหมักจะทำหน้าที่ย่อยสลายและช่วยลดกลิ่น     ซึ่งตนคิดว่า หากทั่วประเทศ มี“เจ้ามารวย”และ“บ่อพักรักษ์น้ำ”ในแต่ละหมู่บ้านหรือชุมชน จะช่วยกำจัดขยะสด ประเภทผักผลไม้ ที่เหลือจากครัวเรือน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเป็นการช่วยคัดแยกขยะได้อีกทางหนึ่ง อีกด้วย


เจ้ามารวย หมูป่าเพศผู้ วัย 9 ปี หวิดถูกเข้าโรงเชือด ปัจจุบันกลายเป็นขวัญใจ การกำจัดขยะสดในชุมชน เจ้ามารวย หมูป่าเพศผู้ วัย 9 ปี หวิดถูกเข้าโรงเชือด ปัจจุบันกลายเป็นขวัญใจ การกำจัดขยะสดในชุมชน Reviewed by ข่าวลุงเขี้ยว on กันยายน 28, 2563 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

รูปภาพธีมโดย Roofoo. ขับเคลื่อนโดย Blogger.